Lomē Conventions (1975-2000)

อนุสัญญาโลเม (๒๕๑๘-๒๕๔๓)

​​     อนุสัญญาโลเมเป็นความตกลงว่าด้วยความสัมพันธ์ทางด้านการค้าและการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาที่ ประชาคมยุโรป (European Community-EC)* ลงนามร่วมกับกลุ่มประเทศอดีตอาณานิคมของ ชาติสมาชิกในทวีปแอฟริกา หมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน และมหาสมุทรแปซิฟิกหรือเอซีพี (African, Caribbean and Pacific States - ACP) ณ กรุงโลเม (Lome) เมืองหลวงของประเทศโตโก (Togo) ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๗๕ อนุสัญญาฉบับนี้ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมและต่ออายุ ๓ ครั้งในช่วงทศวรรษ ๑๙๗๐ และทศวรรษ ๑๙๘๐ จึงมีอนุสัญญาโลเมทั้งหมด ๔ ฉบับด้วยกันอนุสัญญา โลเม ๓ ฉบับแรกมีอายุฉบับละ ๕ ปีและฉบับที่ ๔ มีอายุ ๑๐ ปีซึ่งใช้เป็นแกนกลางในการดำเนินความสัมพันธ์และความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจการค้าและ การพัฒนาระหว่างประชาคมยุโรปกับกลุ่มประเทศ เอซีพีสืบต่อมาจนถึงสมัยที่ ประชาคมยุโรปเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นสหภาพยุโรป (European Union EU)* และใน ค.ศ. ๒๐๐๐ สหภาพยุโรปก็ได้จัดทำความ ตกลงโคโตนู (Cotonou Agreement) ขึ้นเพื่อใช้แทน อนุสัญญาโลเม
     อนุสัญญาโลเมมีพื้นฐานและพัฒนามาจาก อนุสัญญายาอุนเด (Yaounde Convention) ๒ ฉบับที่สมาชิกผู้ก่อตั้งทั้งหกของประชาคมยุโรปลงนามร่วมกับกลุ่มประเทศอดีตอาณานิคมในทวีปแอฟริกาในช่วง ทศวรรษ ๑๙๖๐ อนุสัญญายาอุนเดฉบับที่ ๑ (Yaounde I) เป็นการลงนามกับกลุ่มประเทศแอฟริกันมาดากัสการ์ และมอริเชียสหรือเอเอสเอ็มเอ็ม (African States, Mada-gascar and Mauritius - ASMM) จำนวน ๑๘ ประเทศที่ กรุงยาอุนเด (Yaounde) เมืองหลวงของ ประเทศคาเมรูน (Cameroon) เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๓ อนุสัญญาฉบับนี้มีผลบังคับใช้ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๔-๑๙๖๘ส่วนอนุสัญญายาอุนเดฉบับที่ ๒ (Yaounde II) เป็นอนุสัญญาที่ ลงนามในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๙ เพื่อต่ออายุความตกลงในอนุสัญญาฉบับเดิมที่สิ้นสุดลง โดยเหตุที่ อนุสัญญาทั้ง๒ ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญในการสร้างกรอบและหลักการในการดำเนินความสัมพันธ์ทางด้านการค้าและการให้ความ ช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาที่ เป็นอดีตอาณานิคม ของประเทศสมาชิกประชาคมยุโรปในทวีปแอฟริกาภาย ใต้กองทุนการเงินเพื่อการพัฒนาของยุโรป (European Development Fund - EDF) อย่างเป็นระบบในลักษณะ ของสนธิสัญญาระหว่างประเทศ อนุสัญญาดังกล่าวจึงเป็นอนุสัญญาชุดแรกของประชาคมยุโรปที่วางรากฐาน ให้แก่อนุสัญญาโลเมและความตกลงฉบับอื่นๆ ใน ลักษณะเดียวกันที่ จัดทำขึ้นในภายหลัง
     อย่างไรก็ดีใน ค.ศ. ๑๙๗๓ ก่อนที่ อนุสัญญายาอุนเดฉบับที่ ๒ จะหมดอายุลงในวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๗๕ ก็ได้มีความพยายามจากทั้งสองฝ่ายที่ จะเปิดการเจรจาเพื่อจัดทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ขึ้นแทนการต่ออายุอนุสัญญายาอุนเดเป็นครั้งที่ ๒ ทั้งนี้เนื่องจาก อังกฤษซึ่งได้เข้าเป็นสมาชิกใหม่ของประชาคมยุโรปต้อง การนำอดีตอาณานิคมของตนเข้าสู่กรอบความช่วยเหลือและได้รับสิทธิประโยชน์จากประชาคมยุโรปในวงกว้าง ขึ้นแทนการให้ความช่วยเหลือในระบบทวิภาคีตามแบบ เดิมที่ ตนทำไว้กับประเทศเหล่านี้ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ อังกฤษรักษาสายสัมพันธ์และเครือข่ายทางเศรษฐกิจการค้ากับประเทศเหล่านั้นไว้ได้เป็นอย่างดีแล้วยังจะ เป็นการสร้างความเท่าเทียมกับฝรั่งเศสซึ่งเป็นแกนนำสำคัญในการจัดทำอนุสัญญายาอุนเดทั้ง๒ ฉบับและมี อดีตอาณานิคมเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาดังกล่าว มากที่สุดด้วย ขณะเดียวกันวิกฤตการณ์น้ำมันที่ เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๗๓ ก็มีส่วนทำให้ชาติสมาชิกของประชาคมยุโรป ตระหนักถึงความจำเป็นที่ จะต้องกระชับความสัมพันธ์ กับกลุ่มประเทศเอซีพีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นโดยการจัดทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่ มีความยืดหยุ่นและตอบสนอง ความต้องการของประเทศภาคีสมาชิกในฝ่ายเอซีพีได้ มากกว่าเดิมเพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศเหล่านั้นโดย เฉพาะประเทศที่ มีอุตสาหกรรมเหมืองแร่และการเกษตร เป็นหลักหันไปรวมกลุ่มทางการค้าระหว่างกันในลักษณะ เดียวกับกลุ่มโอเปก (OPEC) นอกจากนี้การนำ "ระบบ ทั่วไปในการให้สิทธิพิเศษทางการค้า" หรือจีเอสพี (Generalized System of Preferences - GSP) มาใช้ ใน ค.ศ. ๑๙๗๑ยังมีผลทำให้ประชาคมยุโรปต้องการขยายขอบเขตของการใช้ระบบดังกล่าวให้กว้างขวางมาก ขึ้นด้วยส่วนทางฝ่ายเอซีพีเองก็เห็นว่าเงื่อนไขบางประการของอนุสัญญายาอุนเดยังไม่เอื้อประโยชน์ให้แก่ ตนเท่าที่ ควร ทั้งยังมีลักษณะของ "ลัทธิอาณานิคมใหม่" (Neo - Colonialism) แอบแฝงอยู่ด้วย แม้ว่าอนุสัญญา ทั้ง ๒ ฉบับจะได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า ภาคีสมาชิกที่ ร่วม ลงนามในอนุสัญญาจะร่วมมือกันบนพื้นฐานของความ เท่าเทียมกันแห่งรัฐอธิปไตยก็ตาม ประเทศเหล่านั้นจึงต้องการสนธิสัญญาที่ แสดงถึงความเป็นหุ้นส่วนที่ เท่า เทียมกันโดยสอดคล้องกับระเบียบใหม่ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (New International Economic Order-NIEO) ซึ่งกำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนั้นด้วยเหตุนั้นสมาชิกประชาคมยุโรป ๙ ประเทศจึงได้เปิดการเจรจา ร่วมกับประเทศกลุ่มเอซี พี๔๖ ประเทศตั้งแต่ปลาย ค.ศ. ๑๙๗๓ จนถึงต้น ค.ศ. ๑๙๗๕ รวมเวลา ๑๘ เดือนซึ่งยุติลงด้วยการลงนามในอนุสัญญาฉบับใหม่ที่ กรุงโลเมในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๗๕ อนุสัญญาดังกล่าวจึงได้ชื่อ "อนุสัญญาโลเม" ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน เมษายน ค.ศ. ๑๙๗๖-๑๙๘๐
     อนุสัญญาโลเมถือเป็นกรอบใหม่ของความร่วม มือระหว่างประชาคมยุโรปกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เอซี พีซึ่งเป็นผลจากความพยายามที่ แก้ไขข้อบกพร่อง ของอนุสัญญายาอุนเด และตอบสนองข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของประเทศคู่สัญญา โดยได้ระบุจุดมุ่งหมายไว้อย่าง ชัดเจนว่า "เพื่อส่งเสริมการพัฒนาของกลุ่มประเทศ เอซีพีทั้งในด้านเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมรวมทั้งเพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นและก่อให้เกิดความหลาก หลายในความสัมพันธ์ระหว่างประชาคมยุโรปกับกลุ่มประเทศเอซีพีโดยมุ่งเน้นที่ ความเป็นเอกภาพและการบรรลุผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน" นอกจากนี้อนุสัญญายังได้ย้ำถึงหลักการขั้นพื้นฐานในการดำเนินความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศอันได้แก่ความเท่าเทียมกันระหว่างประเทศคู่สัญญา การเคารพในอธิปไตยแห่งรัฐและสิทธิ ของแต่ละชาติภาคีสมาชิกในการตัดสินนโยบายต่าง ๆ ด้วยตนเอง ตลอดจนการยังประโยชน์และพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันพร้อมทั้งได้ปรับปรุงเนื้อหาสาระและข้อตกลง ต่าง ๆ ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นเนื้อหาสาระของอนุสัญญา ฉบับนี้ประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๒ส่วนส่วนที่ ๑ว่าด้วย ความร่วมมือทางการค้า และส่วนที่ ๒ว่าด้วยการให้ ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาทั้งในด้านวิชาการและ การเงิน
     ในส่วนแรกนั้นประชาคมยุโรปได้ให้ความช่วยเหลือโดยใช้วิธีการและกลไกในรูปแบบต่าง ๆ เช่นการให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่สินค้าขาออกทางด้านการเกษตรและแร่ธาตุของประเทศเอซีพีที่ จะส่งเข้าไปขายใน ตลาดร่วมยุโรปโดยไม่เก็บภาษีซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนโควตา ของสินค้าที่ กำหนดไว้อย่างแน่นอน ทั้งนี้เพื่อให้สินค้า ของเอซีพีสามารถเข้าไปแข่งขันกับสินค้าการเกษตร ของประชาคมยุโรปได้ทั้งยังมีการนำระบบการสร้างเสถียรภาพให้แก่รายได้จากการส่งออกหรือสตาเบกซ์ (System of Stabilization of Export Earnings STABEX) มาใช้เพื่อประกันราคาสินค้าการเกษตรให้แก่ เอซีพีในยามที่สินค้าล้นตลาดหรือผลผลิตตกต่ำ การนำระบบสตาเบกซ์มาใช้ถือเป็นของใหม่ที่ เกิดขึ้นในช่วง อนุสัญญาโลเมฉบับที่ ๑ (Lome I) ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ เป็นอย่างมากแก่กลุ่มประเทศเอซีพีที่ส่วนใหญ่เศรษฐกิจขึ้นอยู่กับสินค้าการเกษตรเพียงอย่างเดียวหรือ๒ อย่าง เท่านั้นในส่วนที่ ๒ นั้นประชาคมยุโรปตกลงที่ จะให้ ความช่วยเหลือในด้านการพัฒนาและการลงทุนแก่ ประเทศเอซีพีเป็นจำนวนเงิน๓ พันล้านอีซียู [ (European Currency Unit - ECU) เป็นหน่วยแลกเปลี่ยนทางการเงินที่ ประชาคมยุโรปนำมาใช้ก่อนการประกาศใช้เงินยูโร (Euro)* ใน ค.ศ. ๑๙๙๙] โดยผ่านทางกองทุนการเงินเพื่อการพัฒนาของยุโรป และธนาคารเพื่อการลงทุนยุโรป (European Investment Bank - EIB) พร้อม ทั้งให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ แก่การพัฒนาด้านสาธารณูปโภคในประเทศเอซีพีได้แก่การสร้างถนนสะพาน และระบบคมนาคมขนส่งอื่นๆ ตลอดจนโรงพยาบาลและโรงเรียน รวมทั้งระบบการเกษตรที่ยั่งยืน
     นอกจากนี้ อนุสัญญาโลเมยังได้กำหนดให้มี การจัดตั้งสถาบันร่วมระหว่างประชาคมยุโรปกับเอซีพี เป็นการถาวรเพื่อเป็นศูนย์กลางในการบริหารงานและ อำนวยความสะดวกในการดำเนินความร่วมมือระหว่าง กันทั้งยังกำหนดให้มีการประสานงานการประชุมเจรจา และการตรวจสอบสอดส่องดูแลการบังคับใช้สนธิสัญญาอย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอด้วย จึงมีการตั้งสำนักงานประจำทั้งในกรุงบรัสเซลส์และในประเทศต่าง ๆ ของเอซีพี
     เมื่ออนุสัญญาโลเมฉบับที่ ๑ ใกล้จะหมดอายุลง ได้มีการเจรจาเพื่อจัดทำอนุสัญญาโลเมฉบับที่ ๒ (Lome II) และลงนามใน ค.ศ. ๑๙๗๙ อนุสัญญาฉบับนี้มีประเทศ เอซีพีเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น๕๘ ประเทศและมีผลบังคับใช้ ในช่วง ค.ศ. ๑๙๘๐-๑๙๘๕ เป็นอนุสัญญาที่ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะสำคัญแต่ประการใดยกเว้นมี การนำระบบ "SYSMIN" มาใช้เพื่อช่วยอุตสาหกรรม เหมืองแร่ในประเทศเอซีพีที่ ระบบเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการทำเหมืองแร่เป็นสำคัญภายใต้ระบบดังกล่าวประเทศที่ ประสบปัญหาการขาดทุนจากธุรกิจเหมืองแร่หรือประสบ ภัยพิบัติที่ มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเหมืองแร่สามารถ กู้ยืมเงินจากประชาคมยุโรปได้ประชาคมยุโรปนำระบบ นี้มาใช้เพื่อพยายามลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ แต่เพียงอย่างเดียวของประเทศเอซีพีบางประเทศ และ ในช่วงนี้ประชาคมยุโรปได้ให้เงินช่วยเหลือแก่กลุ่มเอซี พี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาและการลงทุนเป็นจำนวน ๕.๕ พันล้านอีซียู
     ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๔ ได้มีการลงนาม ในอนุสัญญาโลเมฉบับที่ ๓ (Lome III ค.ศ. ๑๙๘๕-๑๙๙๐) ระหว่างชาติสมาชิก ๑๐ ประเทศของประชาคมยุโรปกับเอซี พี๖๕ ประเทศ ในช่วงของการใช้อนุสัญญา โลเมฉบับนี้ประชาคมยุโรปได้ให้เงินช่วยเหลือจากกอง ทุนการเงินเพื่อการพัฒนาของยุโรปถึง ๘.๕ พันล้าน อีซียูเพื่อช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งและความอดอยากหิวโหยที่ ประชากรในประเทศเอซีพีในทวีปแอฟริกากำลังเผชิญอยู่อย่างหนักรวมทั้งเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการพัฒนา ชนบทอันเป็นโครงการเร่งด่วนหลายโครงการการดำเนินงานของอนุสัญญาโลเมฉบับที่ ๓ มุ่งเน้นอยู่ที่ การส่งเสริมการผลิตอาหารอย่างเพียงพอและปลอดภัยและ การรณรงค์ต่อต้านภัยแล้งและภัยพิบัติต่าง ๆ ในทวีปแอฟริกา
     ความร่วมมือระหว่างประชาคมยุโรปกับเอซี พี ภายใต้อนุสัญญาโลเมได้ดำเนินมาจนถึงจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเมื่อมีการลงนามในอนุสัญญาโลเมฉบับที่ ๔ (Lome IV ค.ศ. ๑๙๙๐-๒๐๐๐) ระหว่างชาติสมาชิกประชาคมยุโรป ๑๒ ประเทศกับเอซีพีจำนวน ๖๘ ประเทศ ในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๙ เนื่องจาก อนุสัญญาฉบับนี้มีลักษณะพิเศษหลายประการโดย เป็นสัญญาที่ มีอายุถึง๑๐ ปีและได้กำหนดให้มีการเจรจาระหว่างประเทศภาคีสมาชิกอีกครั้งหนึ่งในช่วง กลางเทอมของการใช้สัญญา คือใน ค.ศ. ๑๙๙๕ ทั้งนี้ เพื่อให้มีการทบทวนเพื่อการแก้ไขเพิ่มเติมสำหรับใช้ ดำเนินการในครึ่งหลังระหว่าง ค.ศ. ๑๙๙๖-๒๐๐๐ อีกทั้งได้เพิ่มโครงการใหม่ ๆ หลายโครงการเพื่อพัฒนา เศรษฐกิจและการค้าของกลุ่มเอซีพีให้ก้าวหน้าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจการเมืองของโลกใน เวลานั้นรวมทั้งมีโครงการพัฒนาในด้านการศึกษาและสาธารณสุขเพิ่มขึ้นตลอดจนมีการห้ามการเคลื่อนย้ายวัสดุมีพิษระหว่างประเทศเอซีพีกับประเทศสมาชิกของ ประชาคมยุโรป เป็นต้นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการกล่าวถึงเรื่องการส่งเสริมสิทธิ มนุษยชนในฐานะที่ เป็นพื้นฐานของความร่วมมือระหว่างประเทศของประชาคมยุโรปกับกลุ่มเอซีพีไว้เป็นครั้งแรก ในมาตรา ๕ ของอนุสัญญาฉบับนี้ทั้งยังมีการย้ำถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนในฐานะที่ เป็นองค์ประกอบสำคัญของ ความร่วมมือไว้ในอนุสัญญาโลเม ๔ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมสำหรับช่วง ค.ศ. ๑๙๙๖-๒๐๐๐ ด้วย โดยกล่าวว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนใด ๆ ในกลุ่มประเทศเอซีพีไม่ว่า จะเป็นเพียงบางส่วนหรือทั้งหมดอาจนำมาซึ่งการระงับเงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาที่สหภาพยุโรปจะให้แก่ ประเทศเอพีซีได้หลังจากที่ ได้มีการหารือร่วมกับประเทศ เอพีซีอื่นๆ และประเทศผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นๆ แล้ว อนุสัญญาโลเม ๔ จึงเป็นความตกลงเพื่อความร่วม มือในการพัฒนาฉบับแรกที่วางมาตรฐานในเรื่องสิทธิ มนุษยชนไว้อนึ่งอนุสัญญาโลเม ๔ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมยังได้รวมพีธีสารว่าด้วยการคุ้มครองป่าของกลุ่มประเทศ เอพีซีไว้ด้วย โดยได้ให้งบประมาณสำหรับดำเนินการในช่วง ค.ศ. ๑๙๙๖-๒๐๐๐ ไว้ถึง ๑.๒๙ หมื่นล้านอีซียู ทั้งนี้เพื่อสงวนป่าในเขตร้อน และการดำเนินการใน เรื่องอื่นที่ เกี่ยวกับป่า โดยรวมแล้วอนุสัญญาโลเมฉบับนี้เป็นอนุสัญญาที่ ได้วางมาตรการเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญๆที่ โลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนั้นหลายประการ
     แม้ว่าการดำเนินงานภายใต้อนุสัญญาโลเมทั้ง ๔ ฉบับจะประสบความสำเร็จในหลาย ๆ เรื่อง และ จำนวนภาคีสมาชิกของกลุ่มเอซีพีจะเพิ่มขึ้นถึง ๗๑ ประเทศใน ค.ศ. ๑๙๙๕ ในขณะที่ ชาติสมาชิกของสหภาพยุโรปก็เพิ่มขึ้นเป็น๑๕ ประเทศในปีเดียวกันแต่ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๖ คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ก็ได้ตีพิมพ์เอกสารชื่อ Green Paper on relations between the European Union and the ACP countries on the eve of the 21st century-challenges and options for a new partnership เพื่อเสนอให้มีการจัดทำความตกลงฉบับใหม่ขึ้นใช้แทน อนุสัญญาโลเมฉบับที่ ๔ที่ จะหมดอายุลงในเดือน กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๐๐ โดยจะไม่มีการต่ออายุอนุสัญญา โลเมอีกต่อไป คณะกรรมาธิการยุโรปได้ให้เหตุผลว่า การประเมินผลการดำเนินงานของอนุสัญญาโลเมฉบับที่ ๔ แสดงให้เห็นว่าการดำเนินงานในหลาย ๆ เรื่องยังไม่บรรลุเป้าหมายที่สหภาพยุโรปได้กำหนดไว้อีกทั้งการค้าระหว่างสหภาพยุโรปกับกลุ่มเอซีพีในช่วงทศวรรษ ๑๙๙๐ ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้สิทธิพิเศษทางการค้าต่าง ๆที่สหภาพยุโรปทำไว้กับกลุ่มเอซีพีภายใต้ อนุสัญญาโลเมก็เป็นการให้ประโยชน์แก่กลุ่มเอซีพีฝ่ายเดียว ทั้งยังค่อนข้างซับซ้อนไม่ทันสมัยและไม่เพียงพอที่ จะตอบสนองต่อความต้องการของตลาดยุโรปที่ เปลี่ยน แปลงไปหลังการจัดตั้งตลาดเดียวแห่งยุโรป (European Single Market - SEM) ใน ค.ศ. ๑๙๙๓สหภาพยุโรป จึงต้องการเปลี่ยนแปลงสิทธิพิเศษเหล่านั้นให้เป็นระบบ เดียวกันและมีลักษณะต่างตอบแทน และต้องการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์และเงื่อนไขต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับสหภาพยุโรปที่ จะมีขนาดใหญ่ขึ้นหลังการเข้าเป็นสมาชิกLome Conventions ของประเทศในยุโรปตะวันออกและทะเลเมดิเตอร์เรเนียนใน ค.ศ. ๒๐๐๔ รวมทั้งให้สอดคล้องกับเงื่อนไข ของ องค์การการค้าโลก (World Trade Organization WTO)* ที่ เพิ่งจัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๙๕
     ด้วยส่วนในด้านการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา นั้นปัญหาต่างๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจสังคม และ การเมืองที่ เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในกลุ่มเอซีพีในยุคหลัง สงครามเย็น (Cold War)* อาทิปัญหาความ ไร้เสถียรภาพทางการเมืองความล้มเหลวของการจัดการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การละเมิดสิทธิมนุษยชน ความอดอยากยากจนและภัยพิบัติต่าง ๆ ตลอดจนสงครามและความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ รุนแรง ก็มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากที่ ทำให้สหภาพยุโรปต้องการทบทวนประเด็นและขอบเขตของการให้ ความช่วยเหลือรวมทั้งมีการจัดลำดับความสำคัญและ ปรับปรุงวิธีการดำเนินงานใหม่เพื่อให้ตอบสนองต่อสภาพความต้องการและปัญหาของประเทศเหล่านั้นที่ แตกต่างกันออกไป และเพื่อให้สัมฤทธิ์ผลมากขึ้นสหภาพยุโรปจึงเห็นเป็นโอกาสที่ จะปรับปรุงความ ร่วมมือกับกลุ่มเอซีพีครั้งใหญ่โดยการจัดทำความ ตกลงฉบับใหม่แทนการต่ออายุอนุสัญญาโลเม
     นอกจากนี้ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๙๗ คณะ กรรมาธิการยุโรปยังได้เสนอเอกสารเรื่อง Guidelines for the negotiations of new cooperation agreements with the African, Caribbean and Pacific countries ซึ่งทำให้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางทั้งภายในสหภาพยุโรป และในหมู่ประเทศเอซี พีในที่สุดสมาชิกสหภาพยุโรป ทั้ง๑๕ ประเทศก็เปิดการเจรจากับกลุ่มประเทศเอซี พี ๗๗ ประเทศ เพื่อยกร่างความตกลงเพื่อความร่วมมือฉบับใหม่ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๙๘ การเจรจาเสร็จสิ้นลงในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๐๐ และหลังจาก นั้นก็มีการลงนามในความตกลงฉบับดังกล่าวที่ กรุงโคโตนู (Cotonou) เมืองหลวงของประเทศเบนิน (Benin) เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ปีเดียวกันความตกลงฉบับนี้จึงไดชื่อ "ความตกลงโคโตนู" ซึ่งใช้แทนอนุสัญญาโลเม โดย กำหนดให้มีอายุจนถึง ค.ศ. ๒๐๒



คำตั้ง
Lomē Conventions
คำเทียบ
อนุสัญญาโลเม
คำสำคัญ
- สงครามเย็น
- โคโตนู, กรุง
- ตลาดเดียวแห่งยุโรป
- อนุสัญญาโลเมฉบับที่ ๓
- อนุสัญญาโลเมฉบับที่ ๔
- คณะกรรมาธิการยุโรป
- อนุสัญญาโลเม
- ประชาคมยุโรป
- โตโก, ประเทศ
- กลุ่มโอเปก
- กองทุนการเงินเพื่อการพัฒนาของยุโรป
- ยาอุนเด, กรุง
- ความตกลงโคโตนู
- คาเมรูน, ประเทศ
- สหภาพยุโรป
- ลัทธิอาณานิคมใหม่
- ระบบทั่วไปในการให้สิทธิพิเศษทางการค้า
- อนุสัญญายาอุนเด
- อนุสัญญายาอุนเดฉบับที่ ๑
- อนุสัญญายาอุนเดฉบับที่ ๒
- เงินยูโร
- ธนาคารเพื่อการลงทุนยุโรป
- องค์การการค้าโลก
- ระบบการสร้างเสถียรภาพให้แก่รายได้จากการส่งออกหรือสตาเบกซ์
- ระเบียบใหม่ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
- อนุสัญญาโลเมฉบับที่ ๒
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1975-2000
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๕๑๘-๒๕๔๓
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 3.L 143-268.pdf